ประวัติความเป็นมาของศูนย์ถันยรักษ์

เมื่อก่อตั้งศูนย์ถันยรักษ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนนีได้มีพระราชดำรัสกับ นพ.ธรรมนิตย์ อังศุสิงห์ ผู้ริเริ่มโครงการ และเลขาธิการมูลนิธิฯ ต่อมาเป็นประธานศูนย์ถันยรักษ์ว่า "ให้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสมมาใช้ที่ศูนย์ถันยรักษ์ ให้ดูแลคนจนและคนรวยอย่างเท่าเทียมกัน"
ศูนย์ถันยรักษ์จึงได้นำพระราชดำรัสทั้งสองประการมาเป็นนโยบายการทำงานของศูนย์ถันยรักษ์ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
งานของศูนย์ถันยรักษ์ ประกอบด้วยงานบริการวินิจฉัยโรคของเต้านมอย่างครบวงจร ด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล โดยมีระบบควบคุมคุณภาพและประกันคุณภาพ (QC & QA system) รวมถึงมีระบบการเก็บข้อมูลรายงานผลแมมโมแกรม และรายงานสถานะมะเร็งของผู้ใช้บริการ เพื่อนำมาวิเคราะห์ย้อนหลัง หาค่าตัวชี้วัดทางสถิติและนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน (Medical Audit; รายละเอียดในบทที่ 3) ทั้งนี้เพื่อการแก้ไขปรับปรุงคุณภาพการบริการให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่มีระบบการประเมินและติดตามการรายงานผลแมมโมแกรมของรังสีแพทย์ นอกจากนี้ศูนย์ถันยรักษ์ยังมีรังสีแพทย์ พยาบาล และนักรังสีการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ มีความตั้งใจในการให้บริการที่มีคุณภาพ จึงทำให้ปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการแล้วกว่า 120,000 คน
ศูนย์ถันยรักษ์ ได้ให้การอบรมเรื่องการวินิจฉัยโรคเต้านมแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน โดยทางศูนย์ถันยรักษ์ได้รับแพทย์ นักรังสีการแพทย์เข้ามาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมากทุกปี ยิ่งไปกว่านั้นยังมีโครงการร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศึกษาวิจัยเรื่องที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยและรักษามะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทย และร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขทำโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม
"ผู้หญิงไทยปลอดภัยจากมะเร็งเต้านม"
พระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
แก้ไขล่าสุดเมื่อ 10/08/2559